วันอังคารที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2556

ตอนที่ ๓ บทที่ ๘ พิมพิสาครขาดคอช้าง

ร่าย
๘ ส่วนนรินทรราชา พิมพิสาครราช พระบาทครั้นได้ยิน ว่าภูมินทร์แมนสรวง ยกทัพหลวงมากระทั่ง
ท้าวธก็สั่งพลออกรับ ตับตามกันเดียรดาษ พระบาทเสด็จบ่มิช้า พลหัวหน้าพะกัน แกว่งตาวฟันฉะฉาด
แกว่งดาบฟาดฉะฉัด ซ้องหอกซัดยะยุ่ง ซ้องหอกพุ่งยะย้าย ข้างซ้ายรบบ่มิคลา ข้างขวารบบ่มิแคล้ว
แกล้วแลแกล้วชิงข้า กล้าแลกล้าชิงขัน รุมกันพุ่งกันแทง เข้าต่อแย้งต่อยุทธี โห่อึงอุดเอาชัย
เสียงปืนไฟกึกก้อง สะเทือนท้องพสุธา หน้าไม้ดาปืนดาษ ธนูสาดศรแผลง แขงต่อแขงง่าง้าง
ช้างพะช้างชนกัน ม้าผกผันคลุกเคล้า เข้ารุกรวนทวนแทง ระแรงเร่งมาหนา ถึงพิมพิสาครราช
พระบาทขาดคอช้าง ขุนพลคว้างขวางรบ กันพระศพกษัตริย์ หนีเมื้อเมืองท่านไธ้ ครั้นพระศพเข้าได้
ลั่นเขื่อนให้หับทวาร ท่านนา
ถอดความ
พอพระเจ้าพิมพิสาคร รู้ข่าวศึก ว่าท้าวแมนสรวงยกทัพมา ก็สั่งทหารออกรบพุ่งทหารทั้งสองฝ่ายตะลุมบอนกันอย่างดุเดือด ทั้งตาว ดาบ หอกซัด หน้าไม้ ปืนไฟ ธนู ทวน จนสุดท้ายพระเจ้าพิมพิสาคร ขาดคอช้าง เหล่าทหารช่วยกันกันพระศพหนีเข้าเมือง แล้วปิดประตูรักษาเมืองไว้
รูปแบบการประพันธ์หรือฉันทลักษณ์ในการแต่ง
เป็นร่ายจำนวน ๑ บท ถูกต้องตามฉันทลักษณ์
ธรรมเนียมนิยมในการแต่ง
๑. การสัมผัสอักษร สัมผัสสระ เพื่อความไพเราะ การแต่งโคลง และร่ายมีลักษณะคล้ายกันครับ
สัมผัสอักษร
นรินทร-ราชา ภูมินทร์-แมนสรวง ตับ-ตาม พระบาท-บ่มิช้า พล-พะ
ฉะ-ฉาด ฉะ-ฉัด ซ้อง-ซัด ยะ-ยุ่ง ยะ-ย้าย
ข้าง-ขวา แกล้ว-แกล้ว กล้า-กล้า กัน-กัน ต่อ-ต่อ
อึง-อุด-เอา กึก-ก้อง สะเทือน-ท้อง ดา-ดาษ สาด-ศร
แขง-แขง ง่า-ง้าง ช้าง-ช้าง-ชน ผก-ผัน คลุก-เคล้า รุก-รวน ทวน-แทง ระ-แรง-เร่ง พิม-พิสาครราช เมื้อ-เมือง

สัมผัสสระ
ราชา-สา ราช-บาท ยิน-ภูมินทร์ แมนสรวง-หลวง กระทั่ง-สั่ง
รับ-ตับตาม เดียรดาษ-บาท ช้า-หน้า กัน-ฟัน ฉะฉาด-ฟาด
ฉะฉัด-ซัด ยะยุ่ง-พุ่ง ยะย้าย-ซ้าย คลา-ขวา แคล้ว-แกล้วแลแกล้วชิงข้า-กล้า-กล้า ขัน-กัน แทง-แย้ง ชัย-ไฟ กึกก้อง-ท้อง
พสุธา-หน้าไม้ ดาษ-สาด แผลง-แขง ง่าง้าง-ช้างพะช้าง กัน-ผัน
คลุกเคล้า-เข้า แทง-แรงเร่ง หนา-สา ราช-บาด-ขาด ช้าง-คว้าง-ขวาง
รบ-ศพ ไธ้-ได้

๒. การเลือกใช้คำประพันธ์
๒.๑ เลือกคำที่มีเสียงเสนาะ แฝงลีลา จังหวะอ่อนเนิบ นิ่มนวล หรือเร่งเร้า รุนแรง เช่น อุเหม่
เร่งเร้า รุนแรง
พะกัน ฉะฉาด ฟาดฉะฉัด ซัดยะยุ่ง พุ่งยะย้าย รุม พุ่งแทง อึงอุด
กึกก้อง สะเทือน ดาดาษ สาด แขงง่าง้าง ช้างพะช้าง ชนกัน
ผกผัน คลุกเคล้า รุกรวน ทวนแทง ระแรงเร่ง

๒.๒ การใช้คำเลียนเสียงธรรมชาติ เช่น ออดแอดแอดออดยอดไกว
ฉะฉาด ฉะฉัด

๒.๓ การใช้คำอัพภาส เช่น ริก เป็นระริก ยิ้ม เป็น ยะยิ้ม แย้ม เป็น ยะแย้ม
ฉะฉาด ฉะฉัด ยะยุ่ง ยะย้าย ระแรง

๒.๔ การเล่นเสียงวรรณยุกต์ ไล่ระดับมีความไพเราะคล้ายเสียงดนตรี
ท่านไธ้

๓. กวีโวหารและสำนวนโวหาร
การกล่าวเท็จ หรือพูดเกินจริง เช่น “เรียมร่ำน้ำเนตรท่วม ถึงพรหม” หมายถึงร้องไห้จนน้ำตาท่วมสวรรค์
เสียงปืนไฟกึกก้อง สะเทือนท้องพสุธา หมายถึงเสียงปืนดังไปถึงบาดาล (ท้องพสุธา)

๔. สารประโยชน์อันเป็นผลพลอยได้ที่ได้รับจากวรรณกรรม นอกเหนือจากความบันเทิงใจ
๑. แนวคิดและค่านิยมที่เป็นประโยชน์ ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม
สงครามสิ้นสุดลงเมื่อแม่ทัพเสียทีข้าศึก

๒. สาระ หลักฐานความเป็นจริง อาทิ ทัศนคติ ความเชื่อ ประเพณี วัฒนธรรม ฯลฯ
การทำสงครามสมัยโบราณ มักประจัญบานแบบประชิดตัว การชนช้างระหว่างกษัตริย์ ถือเป็นการรบที่มีพระเกียรติสูงสุด

วันเสาร์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ตอนที่ ๒ บทที่ ๕ – ๗ ปฐมเหตุแห่งโศกนาฏกรรม (ปรับปรุง)

ร่าย
๕ กล่าวถึงขุนผู้ห้าว นามท่านท้าวแมนสรวง เป็นพระยาหลวงผ่านเผ้า เจ้าเมืองสรวงมีศักดิ์ ธมีอัคเทพีพิลาส ชื่อนางนาฎบุญเหลือ ล้วนเครือท้าวเครือพระยา สาวโสภาพระสนม ถ้วนทุกกรมกำนัล มนตรีคัลคับคั่ง ช้างม้ามั่งมหิมา โยธา เดียรดาษหล้า หมู่ทกล้าทหาร เฝ้าภูบาลนองเนือง เมืองออก มากมียศ ท้าวธมีเอารสราชโปดก ชื่อพระลอดิลกล่มฟ้า ทิศ ตะวันออกหล้า แหล่งไล้สีมา ท่านนาฯ
ถอดความ
ท้าวแมนสรวงผู้ยิ่งใหญ่เก่งกล้าสามารถ ครองเมืองสรวง ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออก มีมเหสีพระนามว่าบุญเหลือ มีบริวารห้อมล้อมมากมาย ทั้งนางสนมกำนัล กองทัพเต็มแผ่นดิน ทหารเก่งช้างม้ามากมาย และเมืองขึ้น มีโอรสพระนามว่าพระลอ
ร่าย
๖ มีพระยาหนึ่งใหญ่ ธไซร้ทรงนามกร พิมพิสาครราช พระบาทเจ้าเมืองสรอง สมบัติหลวงสองราชา มีมหิมาเสมอกัน ทิศตะวันตกไท้ท้าว อคร้าวครองครองยศ ท้าวธมีเอารสราช ฦๅไกร ชื่อท้าวพิไชยพิษณุกร ครั้นลูกภูธรธใหญ่ไซร้ ธก็ให้ ไปกล่าวไปถาม นางนามท้าวนามพระยา ชื่อเจ้าดาราวดี นาง มีศรีโสภา เป็นนางพระยาแก่ลูกไท้ ลูกท้าวธได้เมียรัก ลำนัก เนตรเสนหา อยู่นานมามีบุตร สุดสวาทกษัตริย์สององค์ ทรงโฉมจันทรงามเงื่อน ชื่อท้าวเพื่อนท้าวแพง จักแถลงโฉมเลิศล้วน งามถี่พิศงามถ้วน แห่งต้องติดใจ บารนี ฯ
ถอดความ
มีอีกเมืองหนึ่งชื่อเมืองสรองตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกตรงข้ามกัน เป็นเจ้าเมืองสรอง ต่อมาเรียกว่าเมืองสรอง มีความยิ่งใหญ่ไม่แพ้กัน พระนามว่าท้าวพิมพิสาคร มีโอรสชื่อท้าวพิไชยพิษณุกร มีมเหสีชื่อเจ้าดาราวดีทั้งสองมีพระราชธิดาที่สวยงามมากอยู่สององค์ชื่อท้าวเพื่อนท้าวแพง
ร่าย
๗ เมื่อนั้นไท้แมนสรวง พญาหลวงให้หา หัวเมืองมาริปอง ว่าเมืองสรองกษัตริย์กล้า อย่าช้าเราจะรบ ชิงพิภพเป็นเมืองออก เร่งบอกให้เรียบพล นายกคณชุมกัน ครันเทียบพลเศิกเสร็จ ท้าวธเสด็จพยุหบาตร ลีลาศจากพระนคร คลี่นิกรพลพยู่ห์ สู่แดนศึกบ่มิช้า เดียรดาษพลช้างม้า เพียบพื้นภูมิน

ถอดความ
ท้าวแมนสรวงสั่งจัดกองทัพอย่างยิ่งใหญ่ แล้วยกไปตีเมืองสรองจะเอาเป็นเมืองขึ้นให้ได้

รูปแบบการประพันธ์หรือฉันทลักษณ์ในการแต่ง
เป็นร่ายทั้ง ๓ บท การประพันธ์ ถูกต้องตามฉันทลักษณ์

ธรรมเนียมนิยมในการแต่ง
๑. การสัมผัสอักษร สัมผัสสระ เพื่อความไพเราะ การแต่งโคลง และร่ายมีลักษณะคล้ายกันครับ
บทที่ ๕ ท่าน-ท้าว, ผ่าน-เผ้า, สรวง-ศักดิ์, เทพี-พิลาส, นาง-นาฎ, บุญเหลือ-ล้วน, เครือ-ท้าวเครือ,
สาว-โสภา-พระสนม, กรม-กำนัล, มนตรีคัล-คับคั่ง, ช้างม้า-มั่ง-มหิมา, ทกล้า-ทหาร,
นองเนือง-เมืองออก, มาก-มียศ, เอารส-ราช, พระลอ-ดิลก-ล่มฟ้า, หล้า-แหล่ง-ไล้

บทที่ ๖ ใหญ่-ไซร้, กร-คร, ราช-บาท, ราชา-มา, กัน-วัน, ท้าว-อคร้าว-ครอง, ยศ-เอารส,
ไกร-พิไชยพิษณุกร-ภูธร-ธ, ไซร้-ให้, ถาม-นาม, พระยา-ดารา, วดี-มี-ศรี, รัก-นัก, หา-มา,
บุตร-สุด-สวาท, องค์-ทรง, เงื่อน-เพื่อน-แพง, ล้วน-ถ้วน

บทที่ ๗ แมนสรวง-หลวง, ปอง-สรอง, กล้า-ช้า, รบ-พิภพ, ออก-บอก, กัน-ครัน, เสร็จ-เสด็จ,
บาตร-ลีลาศ, พระนคร-นิกร, พยู่ห์-สู่, ช้า-ม้า, เพียบ-พื้น-ภูมิน

๒. การเลือกใช้คำประพันธ์
๒.๑ เลือกคำที่มีเสียงเสนาะ แฝงลีลา จังหวะอ่อนเนิบ นิ่มนวลหรือเร่งเร้า รุนแรง เช่น อุเหม่..(โกรธ)
คำบ่งบอกอารมณ์ ความรุนแรง คือ ขุนผู้ห้าว, เดียรดาษหล้า, ทกล้าทหาร, นองเนือง,
เดียรดาษพลช้างม้า เพียบพื้นภูมิน
คำบ่งบอกอารมณ์ อ่อนไหว โฉมเลิศล้วน งามถี่พิศงามถ้วน แห่งต้องติดใจ บารนี

๒.๒ การใช้คำเลียนเสียงธรรมชาติ เช่น ออดแอดแอดออดยอดไกว ตอนนี้ไม่มีครับ

๒.๓ ใช้คำน้อยแต่กินความมาก เช่น อันของสูงแม้ปองต้องจิต
เดียรดาษพลช้างม้า เพียบพื้นภูมิน หมายถึงมีมากมายมหาศาล

๒.๔ การเล่นคำ คือใช้คำซ้ำ เช่น เรื่อยเรื่อยมาเรียงเรียง...
ล้วนเครือท้าวเครือพระยา, อคร้าวครองครองยศ, นางนามท้าวนามพระยา, ท้าวเพื่อนท้าวแพง,
งามถี่พิศงามถ้วน
๒.๕ การใช้คำอัพภาส เช่น ริก เป็นระริก ยิ้ม เป็น ยะยิ้ม แย้ม เป็น ยะแย้ม ตอนนี้ไม่มีครับ

๒.๖ การเล่นเสียงวรรณยุกต์ ไล่ระดับมีความไพเราะคล้ายเสียงดนตรี เช่น จากมามาลิ่วล้ำ ลำบาง
ท่านท้าว, ผ่านเผ้า, แหล่งไล้

๓. กวีโวหารและสำนวนโวหาร
๓.๑ การเปรียบเทียบหรืออุปมาอุปไมย ตอนนี้ไม่มีครับ
๓.๒ การใช้บุคลาธิษฐาน คือธรรมชาติเลียนแบบพฤติกรรมมนุษย์ ตอนนี้ไม่มีครับ
๓.๓ การใช้สัญลักษณ์ เช่นดอกกุหลาบแทนความรัก
ทรงโฉมจันทรงามเงื่อน เปรียบเทียบความงามของพระเพื่อนพระแพงเหมือนดวงจันทร์
๓.๔ การกล่าวเท็จ หรือพูดเกินจริง
โยธา เดียรดาษหล้า หมายถึงมีกองทัพเต็มแผ่นดิน
เดียรดาษพลช้างม้า เพียบพื้นภูมิน หมายถึงมีกองทัพเต็มแผ่นดิน
๓.๕ การใช้โวหารปฏิพากย์ คือคำที่มีความหมายเป็นตรงกันข้าม เช่น “ความหวานชื่นอันขมขื่น”
“ใกล้หัวใจแต่ไกลสุดฟ้า” “ในความมืดอันเวิ้งว้างสว่างไสว …..” ตอนนี้ไม่มีครับ

๔. สาระของเนื้อหา
ประโยชน์อันเป็นผลพลอยได้ที่ได้รับจากวรรณกรรม นอกเหนือจากความบันเทิงใจแล้ว ยังมีอีก คือ
๑. แนวคิดและค่านิยมที่เป็นประโยชน์ ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม
ในอดีตเจ้าเมืองต่างๆ มักนิยมทำสงครามขยายดินแดน เพื่อแสดงแสนยานุภาพ และมักมีนางสนมกำนัล บริวารแวดล้อมมากมาย
๒. สาระ หลักฐานความเป็นจริง อาทิ ทัศนคติ ความเชื่อ ประเพณี วัฒนธรรม ฯลฯ
เปรียบเทียบความงามของสตรีเหมือนดวงจันทร์

วันศุกร์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ตอนที่ ๑ บทที่ ๑ – ๔ - บทสรรเสริญกรุงศรีอยุธยา (ปรับปรุง)

ร่าย
๑. ศรีสิทธิฤทธิไชย ไกรกรุงอดุงเดชฟุ้งฟ้า หล้ารรัว กลัวมหิมา รอาอานุภาพ ปราบทุกทิศ ฤทธิรุกราญ ผลาญ พระนคร รอนลาวกาวตาวตัดหัว ตัวกลิ้งกลาดดาษดวน ฝ่าย ข้างยวนแพ้พ่าย ฝ่ายข้างลาวประลัย ฝ่ายข้างไทยไชเยศ คืน ยังประเทศพิศาล สำราญราษฎร์สัมฤทธิ พิพิธราชสมบัติ พิพัฒนมงคล สรสกลีมา ประชากรเกษมสุข สนุกทั่วธรณี พระนครศรีอโยธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบุรีรมย์ อุดมยศโยคยิ่งหล้า ฟ้าฟื้นฟึกบูรณ์

ถอดความ
กรุงศรีอยุธยามีแสนยานุภาพเป็นที่เกรงขามของเมืองต่างๆ สามารถปราบปรามได้ราบคาบ
ปกครองบ้านเมืองอาณาประชาราษฎร์ให้อยู่เย็นเป็นสุข มีความเจริญงดงามสมบูรณ์เหมือนเมืองสวรรค์

โคลง ๔
๒. บุญเจ้าจอมโลกเลี้ยง โลกา
ระเรื่อยเกษมสุขพูล ใช่น้อย
แสนสนุกศรีอโยธยา ฤๅร่ำ ถึงเลย
ทุกประเทศชมค้อยค้อย กล่าวอ้างเยินยอ ฯ

ถอดความ
กรุงศรีอยุธยามีพระมหากษัตริย์ที่มากบุญยาบารมี ปกครองบ้านเมืองให้อยู่เย็นเป็นสุขจนเป็นที่
กล่าวขานกันไปทั่ว

๓. รู้มลักสรบศาสตร์ถ้วน หญิงชาย
จักกล่าวกลอนพระลอ เลิศผู้
ไพเราะเรียบบรรยาย เพราะยิ่ง เพราะนา
สมปี่ลู้เสียงลู้ ล่อเล้าโลมใจ ฯ

ถอดความ
ประชาชนทั้งหลายล้วนเก่งกาจสามารถทั้งด้านการทหารและวิชาการ ไม่อยากจะคุย แต่จะพูดถึงเรื่องลิลิตพระลอที่มีการแต่งไว้อย่างเพราะพริ้งเหมือนเสียงปี่อ่านแล้วมีความสุขทางใจ

๔. สรวลเสียงขับอ่านอ้าง ใดปาน
ฟังเสนาะใดปูน เปรียบได้
เกลากลอนกล่าวกลการ กลกล่อม ใจนา
ถวายบำเรอท้าวไท้ ธิราชผู้มีบุญฯ

ถอดความ
เป็นกวีนิพนธ์ที่ไพเราะมากหาอะไรมาเปรียบไม่มี แต่งขึ้นเพื่อถวายพระมหากษัตริย์
เพื่อความเพลิดเพลิน

รูปแบบการประพันธ์หรือฉันทลักษณ์ในการแต่ง
เป็นร่ายจำนวน ๑ บท โคลงสี่สุภาพจำนวน ๓ บท ถูกต้องตามฉันทลักษณ์

ธรรมเนียมนิยมในการแต่ง
๑. การสัมผัสอักษร สัมผัสสระ เพื่อความไพเราะ การแต่งโคลง และร่ายมีลักษณะคล้ายกันครับ
บทที่ ๒ เจ้า-จอม, โลก-เลี้ยง-โลกา, ระ-เรื่อย และ แสน-สนุก
บทที่ ๓ สรบ-ศาสตร์, กล่าว-กลอน และ ล่อ-เล้า-โลม
บทที่ ๔ สรวล-เสียง, อ่าน-อ้าง, ปูน-เปรียบ, เกลา-กลอน-กล่าว-กล-การ-กล-กล่อม
และท้าว-ไท้-ธิราช

๒. การเลือกใช้คำประพันธ์
๒.๑ เลือกคำที่มีเสียงเสนาะ แฝงลีลา จังหวะอ่อนเนิบ นิ่มนวลหรือเร่งเร้า รุนแรง เช่น อุเหม่..(โกรธ)
... ผลาญ พระนคร รอนลาวกาวตาวตัดหัว ตัวกลิ้งกลาดดาษดวน...
ระเรื่อยเกษมสุขพูล ล่อเล้าโลมใจ เกลากลอนกล่าวกลการ กลกล่อม ใจนา
๒.๒ การใช้คำเลียนเสียงธรรมชาติ เช่น ออดแอดแอดออดยอดไกว
สมปี่ลู้เสียงลู้ ล่อเล้าโลมใจ
๒.๓ ใช้คำน้อยแต่กินความมาก เช่น อันของสูงแม้ปองต้องจิต
บุญเจ้าจอมโลกเลี้ยง โลกา
๒.๔ การเล่นคำ คือใช้คำซ้ำ เช่น เรื่อยเรื่อยมาเรียงเรียง...
ทุกประเทศชมค้อยค้อย กล่าวอ้างเยินยอ และ สมปี่ลู้เสียงลู้ ล่อเล้าโลมใจ
๒.๕ การใช้คำอัพภาส เช่น ริก เป็นระริก ยิ้ม เป็น ยะยิ้ม แย้ม เป็น ยะแย้ม
ระเรื่อยเกษมสุขพูล ใช่น้อย จากเรื่อยเป็น ระเรื่อย ครับ
๒.๖ การเล่นเสียงวรรณยุกต์ ไล่ระดับมีความไพเราะคล้ายเสียงคนตรี
สมปี่ลู้เสียงลู้ ล่อเล้าโลมใจ และ สรวลเสียงขับอ่านอ้าง ใดปาน

๓. กวีโวหารและสำนวนโวหาร
๓.๑ การเปรียบเทียบหรืออุปมาอุปไมย ตอนนี้ไม่มีครับ
๓.๒ การใช้บุคลาธิษฐาน คือธรรมชาติเลียนแบบพฤติกรรมมนุษย์ ตอนนี้ไม่มีครับ
๓.๓ การใช้สัญลักษณ์ เช่นดอกกุหลาบแทนความรัก ตอนนี้ไม่มีครับ
๓.๔ การกล่าวเท็จ หรือพูดเกินจริง
บุญเจ้าจอมโลกเลี้ยง โลกา เป็นทั้งเจ้าโลก แถมยังเลี้ยงดูคนทั้งโลกอีก จะไม่เท็จอย่างไรไหว
๓.๕ การใช้โวหารปฏิพากย์ คือคำที่มีความหมายเป็นตรงกันข้าม ตอนนี้ไม่มีครับ

๔. สาระของเนื้อหา
ประโยชน์อันเป็นผลพลอยได้ที่ได้รับจากวรรณกรรม นอกเหนือจากความบันเทิงใจ
๑. แนวคิดและค่านิยมที่เป็นประโยชน์ ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม
ในอดีตเจ้าเมืองต่างๆ มักนิยมทำสงครามขยายดินแดน เพื่อแสดงแสนยานุภาพ
๒. สาระ หลักฐานความเป็นจริง อาทิ ทัศนคติ ความเชื่อ ประเพณี วัฒนธรรม ฯลฯ
กษัตริย์ นอกจากจะทำสงคราม มีความสามารถในการรบแล้ว ก็ยังมีสุนทรียภาพกับกวีนิพนธ์ด้วย

วันอังคารที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2556

เกริ่นนำ (ปรับปรุง)


ประวัติความเป็นมาของเรื่อง...

ลิลิตพระลอ ยอดแห่งลิลิต จากวรรณคดีสโมสร เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๙ เป็นเรื่องโศกนาฏกรรมความรัก ลิลิตพระลอ แต่งขึ้นอย่างประณีตงดงาม มีความไพเราะของถ้อยคำสำนวนโวหาร พรรณนาเนื้อเรื่องด้วยอารมณ์ที่หลากหลาย ครบทุกรส แก่นของเรื่องเป็นโศกนาฏกรรม ความรักความแค้น แฝงแง่คิดคติธรรม ความเชื่อ และขนบประเพณี

ทั้งผู้แต่งและปีที่แต่ง ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด แต่อาศัยเนื้อเรื่องที่ระบุถึงสงครามระหว่างไทยกับเชียงใหม่มาเป็นที่อ้างอิง เดิมเชื่อว่าน่าจะแต่งขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ. ๒๑๙๙ – ๒๒๓๑) แต่ฟันธงไม่ได้ นี่เป็นหนึ่งความเห็น

นักวิจารณ์วรรณคดีส่วนใหญ่ลงความเห็นว่า ลิลิตพระลอแต่งขึ้นในสมัยอยุธยาแน่ นักวรรณคดีมักจะยกโคลงท้ายบทมาเป็นหลักฐานพิจารณาสมัยที่แต่ง ดังนี้

659.จบเสร็จมหาราชเจ้า นิพนธ์
ยอยศพระลอคน หนึ่งแท้
พี่เลี้ยงอาจเอาตน ตายก่อน พระนา
ในโลกนี้สุดแล้ เลิศล้ำคุงสวรรค์ฯ

660.จบเสร็จเยาวราชเจ้า บรรจง
กลอนกล่าวพระลอยง ยิ่งผู้
ใครฟังย่อมใหลหลง ฤๅอิ่ม ฟังนา
ดิเรกแรกรักชู้ เหิ่มแท้รักจริงฯ

ความว่า "มหาราช" คือกษัตริย์ เป็นผู้แต่ง และ "เยาวราช"เป็นผู้เขียน (บันทึก) และสันนิษฐานว่า ผู้แต่งน่าจะเป็น สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ และผู้เขียน คือ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๔ และคาดว่าน่าจะแต่งเมื่อ พ.ศ. ๒๐๓๔ – ๒๐๗๒ นี่ก็อีกหนึ่งความเห็น

นักวรรณคดีบางท่านเชื่อว่าน่าจะอยู่ในสมัยพระชัยราชาธิราช (พ.ศ. ๒๐๗๗- ๒๐๘๙) เนื่องจากเป็นสมัยที่มีสงครามระหว่างไทยกับเชียงใหม่ และเป็นสมัยแรกที่มีการใช้ปืน (ปืนไฟ) ในการรบ นี่ก็อีกหนึ่งความเห็น

สำนวนภาษาในลิลิตพระลอ อ่านเข้าใจได้ง่ายกว่าวรรณกรรมเรื่องอื่นๆ ในสมัยอยุธยา จึงเป็นเหตุให้นักวิจารณ์บางท่านเสนอว่า ลิลิตพระลอแต่งในสมัยรัตนโกสินทร์ และนี่ก็เป็นอีกหนึ่งความเห็น

ก็ว่ากันไปครับ จะแต่งสมัยใด ใครแต่ง ก็อย่าไปเอาเป็นอารมณ์เลยครับ ต่างคนต่างมีเหตุมีผลอ้างอิงทั้งนั้น ผมว่าเรามาเอาส่วนดีของลิลิตเรื่องนี้กันดีกว่านะ

คำประพันธ์ในเรื่องลิลิตพระลอ เป็นลิลิตสุภาพ ประกอบด้วย ร่ายสุภาพ, ร่ายสอดสร้อย, โคลงสองสุภาพ, โคลงสามสุภาพ และ โคลงสี่สุภาพ สลับกันตามจังหวะ ลีลา และเนื้อหาของเรื่อง มีความยาว ๖๖๐ บท

ลิลิตพระลอเป็นเรื่องความรักความแค้นที่เกิดขึ้นกับ ๒ เมือง บรรยายถึงความรักระหว่างพระเอก คือ พระลอ และนางเอกสองคน คือ พระเพื่อน กับพระแพง นอกจากนี้ยังกล่าวถึงความรักของ นางรื่น นางโรย กับนายแก้ว นายขวัญ พี่เลี้ยงของพระเพื่อนพระแพง และพระลอ (เรื่องย่อผู้เขียน นำเสนอในตอนที่ ๗ ครับ)

ตัวอย่างโคลงสี่สุภาพที่ท๊อปฮิต ติดปากนักอ่าน แล้วข้อสอบภาษาไทยจะเหลือหรือครับ แถมหนึ่งในนั้นยังใช้เป็นแบบฉบับในการแต่งโคลงสี่สุภาพอีกด้วย (บทที่ ๓๐)

๓๐. เสียงลือเสียงเล่าอ้าง อันใด พี่เอย
เสียงย่อมยอยศใคร ทั่วหล้า
สองเขือพี่หลับใหล ลืมตื่น ฤๅพี่
สองพี่คิดเองอ้า อย่าได้ถามเผือฯ

๒๑๕. ใดใดในโลกล้วน อนิจจัง
คงแต่บาปบุญยัง เที่ยงแท้
คือเงาติดตัวตรัง ตรึงแน่น อยู่นา
ตามแต่บุญบาปแล้ ก่อเกื้อรักษาฯ

๒๖๑. ลางลิงลิงลอดไม้ ลางลิง
แลลูกลิงลงชิง ลูกไม้
ลิงลมไล่ลมติง ลิงโลด หนีนา
แลลูกลิงลางไหล้ ลอดเลี้ยวลางลิง ฯ

๒๙๐. ร้อยชู้ฤๅเท่าเนื้อ เมียตน
เมียแล่พันฤๅดล แม่ได้
ทรงครรภ์คลอดเปนคน ฤๅง่าย เลยนา
เลี้ยงยากนักท้าวไท้ ธิราชผู้มีคุณ ฯ

๖๒๕. เสียงไห้ทุกราษฎร์ไห้ ทุกเรือน
อกแผ่นดินดูเหมือน จักขว้ำ
บเห็นตะวันเดือน ดาวมืด มัวนา
แลแห่งใดเห็นน้ำ ย่อมน้ำตาคน ฯ

ลิลิตพระลอ นับว่าเป็นสมบัติล้ำค่าของแผ่นดิน ที่มีครบทุกรสชาติของวรรณคดี ไม่ว่าจะเป็นบทรัก บทชมโฉม บทโกรธ และบทเศร้า ทำให้เกิดความเพลิดเพลินเจริญใจในกลวิธีการประพันธ์จนวางแทบไม่ลง